ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลัง PMI ภาคบริการต่ำสุดในรอบ 4 ปี

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลัง PMI ภาคบริการต่ำสุดในรอบ 4 ปี ล่าสุด FedWatch Tool ของ CM Group ชี้นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 70% ที่เฟดจะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. 

วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/7) ที่ระดับ 36.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (3/7) ที่ระดับ 36.75/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเทียบเงินสกุลหลัก หลัง Dollar Index ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 105.3 หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจและแรงงานชะลอตัวลงซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย.

โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา (Automated Data Processing (ADP) มีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐ ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 150,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 160,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 157,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค.

นอกจากนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของสหรัฐ (ดัชนี PMI) ร่วงลงสู่ระดับ 48.8 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี หรือนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 จากระดับ 53.8 ในเดือน พ.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.5 โดยได้รับผลกระทบจากการลดลงของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน

ซึ่งหลังสหรัฐเปิดผยรายงานดังกล่าวข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CM Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 70% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. สหรัฐ

ทั้งนี้ นักลงทุนรอจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน มิ.ย.ในวันศุกร์นี้ (5/7) อย่างใกล้ชิด ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขการจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 189,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 272,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 4.0% ในเดือน มิ.ย. โดยวันนี้ตลาดการเงินนิวยอร์กปิดทำการเนื่องในวันชาติ

ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.61-36.62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.61/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/7) ที่ระดับ 1.0791/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สหรัฐแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (3/7) ที่ 1.0753/55 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยในช่วงบ่ายวันนี้ (4/7) มีการเปิดเผยยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน พ.ค. ของประเทศเยอรมนีโดยออกมาลดลง 1.6% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5% และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ลดลง 0.6%

โดยในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0782-1.0803 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0797/01 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/7) ที่ระดับ 161.39/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (3/7) ที่ 161.85/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวานนี้ (3/7) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า รายได้จากการจัดเก็บภาษีของญี่ปุ่นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินเยนและภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ รายได้จากการจัดเก็บภาษีสำหรับปีงบประมาณล่าสุดเพิ่มขึ้นแตะระดับ 72.1 ล้านล้านเยน จากระดับ 71.1 ล้านล้านยนในปีงบประมาณก่อนหน้า ส่วนรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปรับตัวลงสู่ระดับ 22.1 ล้านล้านเยน จากระดับ 22.5 ล้านล้านเยน ในปีงบประมาณ 2565 ขณะที่รายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มขึ้นแตะระดับ 15.9 ล้านล้านเยน จากระดับ 14.9 ล้านล้านเยน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์นั้น ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการอ่อนค่าของเงินเยนมีผลในการช่วยกระตุ้นรายได้ของบริษัทส่งออกญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ที่เปิดเผยกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์

โดยเงินเยนที่อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 38 ปีเมื่อเทียบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อไม่นานมานี้เป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มบริษัทส่งออก แต่ก็ทำให้ต้นทุนการนำเข้าวัสดุ พลังงาน และอาหารปรับตัวสูงขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 161.32-160.79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 161.26/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักร (4/7), รายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) (4/7), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มิ.ย.ของสหรัฐ (5/7), อัตราการว่างงานเดือน มิ.ย.ของสหรัฐ (5/7), รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงของสหรัฐ (5/7), ดัชนีการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของประเทศญี่ปุ่น (5/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.25/-9.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.50/-5.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลัง PMI ภาคบริการต่ำสุดในรอบ 4 ปี

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-07-04T10:58:07Z dg43tfdfdgfd