ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจชะลอตัว

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจชะลอตัว

วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 1-5 กรกฎาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (1/7) ที่ระดับ 36.72/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/6) ที่ระดับ 36.69/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยภาพรวมของค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่ลดลงในเดือนพฤษภาคม ซึ่งตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา (28/6) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6 ในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบรายปี

สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.7% ในเดือนเมษายน ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.8% ในเดือนเมษายน

โดยดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในวันพุธ (3/7) โดยได้รับแรงหนุนจากการกล่าวสุนทรพจน์ในงานเสวนาที่จัดขึ้นโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ซึ่งกล่าวว่า “เฟดมีความคืบหน้าอย่างมากในการทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย โดยตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดและครั้งก่อนหน้าบ่งชี้ว่าเฟดได้กลับสู่เส้นทางในการทำให้เงินเฟ้อลดลงแล้ว

แต่เฟดต้องการความมั่นใจมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวลงสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน ก่อนที่จะเริ่มต้นกระบวนการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยเฟดตระหนักว่า หากเราปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป เราก็อาจจะทำลายผลงานที่ดีที่เราได้ทำมา แต่ถ้าเราปรับลดอัตราดอกเบี้ยช้าเกินไป สิ่งนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวและการขยายตัวของเศรษฐกิจ”

ทั้งนี้ เขาไม่กล่าวถึงกำหนดวันที่เฉพาะเจาะจงปรับลดอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลดแรงบวกลงอีกครั้งในเวลาถัดมา โดยได้รับแรงกดดันจากการเทขายดอลลาร์ของนักลงทุน ภายหลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลข เปิดรับสมัครงานที่สูงกว่าคาดในเดือนพฤษภาคม รวมถึงการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอื่น ๆ

อาทิ สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้น 221,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 8.14 ล้านตำแหน่งในเดือน พ.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 7.96 ล้านตำแหน่ง จากระดับ 7.92 ล้านตำแหน่งในเดือน เม.ย. ขณะเดียวกัน อัตราการเปิดรับสมัครงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.9% ในเดือน พ.ค. และตัวเลขการจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5.8 ล้านตำแหน่ง ส่วนอัตราการจ้างงานอยู่ที่ระดับ 3.6%

ขณะที่ตัวเลขการปลดออกจากงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.65 ล้านตำแหน่ง ท่ามกลางวอลุ่มการซื้อขายที่เบาบางก่อนที่ตลาดสหรัฐจะปิดทำการในวันพฤหัสบดี (4 ก.ค.) เนื่องในวันชาติสหรัฐ ด้าน FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน ก.ย. และปรับลดอีกครั้งในเดือน ธ.ค. แม้ว่ารายงานคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในการประชุมเฟดบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้

นักลงทุนมุ่งความสนใจไปที่การเปิดเผยรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ (5/7) ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ในตลาดวอลล์สตรีตคาดว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรอาจเพิ่มขึ้น 195,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. เทียบกับ 272,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค.

สำหรับปัจจัยภายในภูมิภาค สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 49.5 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับในเดือนพฤษภาคม โดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของจีนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการ ซึ่งเป็นมาตรวัดความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมด้านการบริการและการก่อสร้างนั้น อยู่ที่ระดับ 50.5 ในเดือนมิถุนายน ลดลงจากระดับ 51.1 ในเดือนพฤษภาคม

อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ภาคบริการอยู่เหนือระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการของจีนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นายหัว โจว หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท Guotai Junan International กล่าวว่า การหดัวของดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจส่งผลให้ตลาดการเงินเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเร่งออกมาตรการฟื้นฟูภาคการผลิตและกระตุ้นศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ในส่วนของปัจจัยในประเทศนั้น ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ตลาดไร้ปัจจัยใหม่หนุนการซื้อขาย ท่ามกลางการจับตาความชัดเจนประเด็นการเมืองในประเทศ ทั้งในส่วนของการพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกลและคดีพิจารณาคุณสมบัติของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.60-36.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (5/7) ที่ระดับ 36.59/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (1/7) ที่ระดับ .0756/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/6) ที่ระดับ 1.0707/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินยูโรฟื้นตัวกลับมาหลังจากที่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าจากแรงกดดันเรื่องธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมครั้งล่าสุด รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศฝรั่งเศส ขณะที่ในส่วนของการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของทางฝั่งยุโรปนั้นผลสำรวจล่าสุดเผยให้เห็นสัญญาณอันตรายของภาคการผลิตในยูโรโซนในเดือนมิถุนายน

ซึ่งสะท้อนจากอุปสงค์ที่ลดลงอย่างรวดเร็วแม้โรงงานต่าง ๆ จะพยายามลดราคาสินค้าแล้วก็ตาม โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 45.8 ลดลงจาก 47.3 ในเดือนพฤษภาคมใกล้เคียงกับค่าประมาณการเบื้องต้นที่ 45.6 และอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว นอกจากนี้ภาคการผลิตของเยอรมนี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของขนาดเศรษฐกิจของประเทศ ยังคงเผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องในเดือนมิถุนายนหลังผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ต่างหดตัวเร็วขึ้น

โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของเยอรมนีเดือนมิถุนายนแตะที่ระดับ 43.5 ลดลงจาก 45.4 ในเดือนพฤษภาคมสอดคล้องกับตัวเลขประมาณการเบื้องต้น ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขนาดตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0708-1.0824 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (5/7) ที่ระดับ 1.0818/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันจันทร์ (1/7) ที่ระดับ 160.89/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/6) ที่ระดับ 160.70/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนอ่อนค่าไปเหนือระดับ 161.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และเกือบแตะระดับ 162.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในวันพุธ (3/7) โดยถือเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 38 ปี แม้ว่าในช่วงต้นสัปดาห์จะมีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ (ทังกัน) ในไตรมาส 2/2567 ที่ดีกว่าคาดโดยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 13 จากระดับ 11 ในไตรมาส 1/2567 แต่เงินเยนก็ยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยอื่น ๆ และแรงเทขายของนักลงทุน

โดยในวันพุธ (3/7) มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของ au Jibun Bank อยู่ที่ระดับ 49.4 ในเดือนมิถุนายน ลดลงมาจากระดับ 53.8 ในเดือนพฤษภาคม ถือเป็นการปิดฉากการขยายตัว 21 เดือนติดต่อกัน นอกจากนั้น กระทรวงการคลังญี่ปุ่นยังเปิดเผยว่า รายได้จากการจัดเก็บภาษีของญี่ปุ่นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเดือนมีนาคม โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินเยนและภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ รายได้จากการจัดเก็บภาษีสำหรับปีงบประมาณล่าสุดเพิ่มขึ้นแตะระดับ 72.1 ล้านล้านเยน จากระดับ 71.1 ล้านล้านเยนในปีงบประมาณก่อนหน้า ส่วนรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปรับตัวลงสู่ระดับ 22.1 ล้านล้านเยน จากระดับ 22.5 ล้านล้านเยนในปีงบประมาณ 2565 ขณะที่รายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มขึ้นแตะระดับ 15.9 ล้านล้านเยน จากระดับ 14.9 ล้านล้านเยน ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 160.59-161.99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (5/7) ที่ระดับ 160.64/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจชะลอตัว

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-07-05T11:17:03Z dg43tfdfdgfd