เปิดสถิติ 10 ประเทศมีความต้องการทองคำมากที่สุด ปี 2566

สภาทองคำโลก ชี้ปริมาณความต้องการทองคำผู้บริโภค ปีนี้ยังแข็งแกร่ง ตลาดเกิดใหม่เป็นแรงผลักดันการซื้อขาย ด้านความต้องการทองคำภาคผู้บริโภค ประเทศจีน ยังเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดในปีที่ผ่านมา 2566 

วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางโลก ของสภาทองคำโลก (World Gold Council) เปิดเผยว่า ในระดับของผู้บริโภคร้านค้าปลีกทองคำ ประเทศจีนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณความต้องการทองคำแข็งแกร่งในปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้คนได้หันมาลงทุนทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยงจากสินทรัพย์ประเภทอื่น

ด้านประเทศตุรกีก็ได้บันทึกสถิติความต้องการผู้บริโภครายย่อยที่แข็งแกร่งเช่นกัน โดยนักลงทุนได้เข้าซื้อทองคำในระหว่างช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2566 เพื่อป้องกันความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในสกุลเงินลีราของตุรกี ส่วนด้านการบริโภคทองคำค้าปลีกในอินเดียนั้นก็มีความแข็งแกร่ง เนื่องจากนักลงทุนอินเดียเข้าลงทุนช่วงที่ราคาทองคำลดลงเพื่อเพิ่มการถือครอง

ในทางตรงกันข้ามความต้องการผู้บริโภครายย่อยในยุโรปค่อนข้างอ่อนแอในปี 2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเยอรมนีที่เราพบว่าการลงทุนทองคำลดลงอย่างมาก เนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพในยุโรปได้บั่นทอนความสามารถในการซื้อทองคำของผู้บริโภค

ในระดับธนาคารกลางนั้นมีธนาคารประชาชนจีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด โดยมีธนาคารกลางของโปแลนด์และสิงคโปร์เป็นผู้ซื้อรายใหญ่อันดับสองและสามตามลำดับ ธนาคารกลางซื้อทองคำมากกว่า 1,000 ตัน ในปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่สูงสุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ของการซื้อทองคำของธนาคารกลางทั้งหมด (ปริมาณสูงสุดคือปี 2565) ธนาคารกลางยังคงเป็นผู้ซื้อทองคำจำนวนมหาศาลอย่างต่อเนื่องภายหลังจากที่รัสเซียเริ่มความขัดแย้งกับประเทศยูเครน และการคว่ำบาตรทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของรัสเซียเกิดขึ้นในเวลาต่อมา โดยเราคาดว่าธนาคารกลางจะยังคงเป็นผู้ซื้อสุทธิต่อไปในปี 2567 นี้

ในประเทศไทย ปริมาณความต้องการของผู้บริโภครวมสะสมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2564-2566) มีจำนวน 118.3 ตัน ในขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกอยู่ที่ 9,938 ตัน ความต้องการทองคำสำหรับผู้บริโภคในประเทศไทยปัจจุบันได้ปรับตัวมาอยู่ที่ประมาณ 40 ตันต่อปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวที่ดีภายหลังจากปริมาณความต้องการที่แข็งแกร่งในปี 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 และเช่นเดียวกับนักลงทุนประเทศอื่น

เราเชื่อว่านักลงทุนชาวไทยจะมองไปที่คุณสมบัติด้านการกระจายความเสี่ยงของทองคำ รวมถึงการปกป้องรักษาเงินทุน และการเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย (Safe Haven) ของทองคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค ผมเชื่อว่านักลงทุนชาวไทยจะยังคงหันมามองทองคำเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตการลงทุนของพวกเขาต่อไป

สำหรับ 10 ประเทศมีความต้องการทองคำมากที่สุด ปี 2566

สำหรับแนวโน้มการซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกยังคงซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง โดยสติถิอย่างเป็นทางการพบว่าธนาคารกลางทั่วโลกถือครองทองคำเพิ่มขึ้นถึง 290 ตัน ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 การซื้อที่สม่ำเสมอและเป็นรูปธรรม โดยภาครัฐนั้นได้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของทองคำในพอร์ตของทุนสำรองระหว่างประเทศ ท่ามกลางความผันผวนของตลาดและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

โดยแนวโน้มการซื้อสุทธิโดยธนาคารกลางที่ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปีนี้ ดูเหมือนจะกลายเป็นแนวทางที่ได้ดำเนินการอย่างมั่นคงแล้ว แต่เป็นไปได้ว่าอาจมีธนาคารกลางบางแห่งที่รอคอยดูจังหวะตลาดตอบสนองต่อราคาที่สูงในช่วงที่ผ่านมา

แม้ว่าสถิติที่เรารวบรวมได้ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม จะพบว่าด้านธนาคารประชาชนจีนรายงานว่าการซื้อทองคำชะลอตัวลงอย่างมาก ธนาคารรายงานว่าทองคำสำรองเพิ่มขึ้นเพียงไม่ถึง 2 ตันในเดือนเมษายน เป็น 2,264 ตัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นรายเดือนต่ำที่สุดนับตั้งแต่กลับมารายงานอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2565 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายเดือนที่ 18 ตันก่อนเดือนเมษายน

ตัวเลขล่าสุดในเดือนเมษายนแสดงให้เห็นว่าปริมาณทองคำสำรองสุทธิ (Net Reserves) เพิ่มขึ้น 33 ตันในเดือนเมษายน ซึ่งใกล้เคียงกับระดับที่พบในเดือนกุมภาพันธ์จำนวน 27 ตัน ส่วนในเดือนพฤษภาคมข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าธนาคารกลางรายงานการซื้อสุทธิ 10 ตัน การซื้อรวมรายเดือนพฤษภาคมลดลงมาอยู่ที่ 23 ตัน และมียอดขายทองคำทั้งหมดรวม 12 ตัน

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมระดับโลกเรามองว่าในภาพรวมธนาคารยังคงซื้อทองคำต่อไปในปี 2567 อย่างแข็งแกร่ง แม้ว่ายอดซื้อและยอดขายรวมจะลดลง โดยธนาคารในตลาดเกิดใหม่เป็นแรงผลักดันหลักในการซื้อและการขาย นอกจากนี้ จากรายงานผลสำรวจข้อมูลธนาคารกลางทั่วโลก ที่สภาทองคำโลกเราได้เผยแพร่ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากธนาคารกลางถึง 70 แห่ง เราพบว่าธนาคารกลางประมาณ 81% ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดการณ์ว่าผู้จัดการด้านทุนสำรองจะยังคงเพิ่มปริมาณการถือครองทองคำของตนเองต่อไปในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งถือเป็นตัวเลขสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งเราได้เริ่มสำรวจ

ตัวเลขเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงมุมมองเชิงบวกในภาพรวมต่อทองคำจากผู้จัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ ว่ายังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ว่าความต้องการทองคำหรือการซื้อทองคำจากภาครัฐในช่วงสองปีที่ผ่านมาจะสูงเป็นประวัติการณ์ และราคาทองได้พุ่งสูงขึ้น แต่ผู้จัดการด้านทุนสำรองของธนาคารกลางก็ยังคงมีความสนใจในทองคำอยู่

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เปิดสถิติ 10 ประเทศมีความต้องการทองคำมากที่สุด ปี 2566

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-07-05T10:02:02Z dg43tfdfdgfd