เอกชนเชียงใหม่ยื่น 4 ข้อ ทบทวนขึ้นค่าแรง 400 อาจจำใจลดพนง.-กำลังผลิต เสี่ยงปิดกิจการ

องค์กรภาคเอกชนเชียงใหม่ ผนึกกำลังยื่นหนังสือขอภาครัฐทบทวนการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท วอนเห็นใจหลังจากภาวะเศรษฐกิจยังส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจ ชี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในภาพรวม อาจต้องทำใจลดจำนวนพนักงาน ลดกำลังการผลิต สุดยื้อพร้อมปิดกิจการ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 5 กรกฎาคม ตัวแทนองค์กรภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมธนาคารไทยจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทยจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดเชียงใหม่ สมาคมผู้ผลิตและส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ และสมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะตัวแทนของสถานประกอบการทุกขนาดและทุกประเภทกิจการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เข้ายื่นหนังสือต่อ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้ทบทวนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เนื่องจากส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ยังผันผวน ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เกิดการลดจำนวนพนักงาน การเลิกจ้าง และปิดกิจการในที่สุด

ทั้งนี้ ภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ได้ขอแสดงความคิดเห็นคัดค้านต่อการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้

1.การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำซ้ำซ้อน ในปี 2567 มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมาแล้วถึง 2 ครั้ง การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งในเวลาอันใกล้นี้ มีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ

2.ปัจจัยทางเศรษฐกิจและภาระต้นทุน การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและบริบทของแต่ละจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านค่าครองชีพ ระดับราคาสินค้าและบริการ ตลอดจนศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่

การปรับขึ้นค่าจ้างที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยเหล่านี้ เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนแก่ผู้ประกอบการอย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

3.ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการจ้างงานและการลงทุน การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดดย่อมต้องส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในภาพรวม โดยอาจทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงาน ลดกำลังการผลิต หรือชะลอการลงทุน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของธุรกิจ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้

และ 4.ผลกระทบต่อค่าครองชีพ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้น้อย เช่น ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และผู้ประกอบอาชีพอิสระขนาดเล็ก ที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ที่เป็นสัดส่วนเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1.เห็นด้วยกับการสนับสนุนยกระดับรายได้ของแรงงาน แต่ควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน (Pay By Skils) เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)

2.การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามหลักการที่เป็นธรรมและยั่งยืนนั้น ควรยึดหลักการที่เป็นธรรมและคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายของผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับการดูแลสวัสดิภาพของลูกจ้าง โดยอาจพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและบริบทของแต่ละพื้นที่

3.ควรใช้สูตรคำนวณที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรใช้สูตรคำนวณที่เป็นมาตรฐานสากลและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค อัตราเงินเฟ้อ และผลิตภัณฑ์มวลรวมของแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมา ได้ยึดตามสูตรที่มีการจัดทำโดยนักวิชาการหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้อง และเป็นสูตรที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่ามีความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียโดยตรงจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมอย่างแท้จริง สูตรการคำนวณที่ใช้ควรเป็นสูตรที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับ และสามารถอธิบายได้ในเชิงวิชาการอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อสร้างความมั่นใจในระบบไตรภาคีที่ร่วมกันพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ

4.ควรเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ได้มีส่วนร่วมในการหารือและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นธรรมและยั่งยืนสำหรับทุกฝ่าย

และ 5.ภาครัฐควรสร้างสมดุลด้านรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพให้กับแรงงาน เพื่อสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

จากเหตุผลข้างต้น องค์กรภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาเห็นว่า จ.เชียงใหม่ ควรจะทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน และขอให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จ.เชียงใหม่ และคณะกรรมการค่าจ้างได้โปรดพิจารณาข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าว เพื่อให้การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย อันส่งผลดีต่อการพัฒนาภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของจังหวัดเชียงใหม่และของประเทศโดยรวมต่อไป

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เอกชนเชียงใหม่ยื่น 4 ข้อ ทบทวนขึ้นค่าแรง 400 อาจจำใจลดพนง.-กำลังผลิต เสี่ยงปิดกิจการ

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.matichon.co.th

2024-07-05T10:35:51Z dg43tfdfdgfd