แบงก์ชาติ แนะแก้โครงสร้างศก.ไทย ดันจีดีพีโต ผู้ว่าฯยันดบ.เหมาะสม ชี้ถ้าลดลงอีก หวั่นหนี้ครัวเรือนพุ่ง

แบงก์ชาติ แนะแก้โครงสร้างศก.ไทย ดันจีดีพีโต ผู้ว่าฯยันดบ.เหมาะสม ชี้ถ้าลดลงอีก หวั่นหนี้ครัวเรือนพุ่ง คาดQ4ปีนี้ น่าจะโตใกล้เคียง 4%

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 1/2567 ออกมาอยู่ที่ 1.5% ถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าจะออกมาโตได้เกิน 2% โดยในครึ่งหลังของปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะเติบโตได้ดีขึ้น ในไตรมาส 3 คาดจีดีพีจะโตใกล้ 3% ก่อนที่ไตรมาส 4 จะโตใกล้ 4% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพของไทย แต่ต้องยอมรับว่า ศักยภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันปรับลดลง เพราะศักยภาพการเติบโตจีดีพีเฉลี่ยอยู่ประมาณ 3% เท่านั้น อัตราการขยายตัวของแรงงานไทยลดลง แทบจะเป็น 0% อัตราการเติบโตของผลผลิตใกล้เคียงเดิม สะท้อนถึงโครงสร้างที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติม หากต้องการดันให้จีดีพีไทยเติบโตได้มากขึ้น อาทิ เพิ่มจำนวนแรงงาน พัฒนาศักยภาพของแรงงานมากขึ้น การลงทุน หรือเทคโนโลยี เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่มีการพูดว่าอยู่ระหว่างการฟื้นตัวกลับสู่ศักยภาพ แต่ศักยภาพของจีดีพีไทยไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงขนาดนั้น ทำให้หากเรายังทำอยู่แบบเดิม จีดีพีไทยก็จะโตเท่าเดิม อยู่ประมาณ 3%

ยันอัตราดอกเบี้ยเหมาะสม

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในด้านดอกเบี้ย ภาวะเงินเฟ้อที่ไม่ได้สูงมากนัก มีคำถามว่าทำไม ธปท.ยังไม่ลดดอกเบี้ย ต้องชี้แจงว่าการตัดสินใจด้านนโยบายต้องพิจารณาในหลายปัจจัยร่วมกัน รวมถึงแนวโน้มในระยะถัดไป ไม่ใช่เพียงภาวะปัจจุบันเท่านั้น อาทิ การเติบโตของเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งไม่มีสูตรตายตัวว่า เงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบแล้วต้องลดดอกเบี้ยลงอย่างเดียว แม้ดอกเบี้ยจะถูกจับตามองและถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ แต่ดอกเบี้ยเครื่องมือหยาบ ใช้แล้วกระทบหลายอย่าง

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า ยังมีมาตรการที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือได้ มีผลข้างเคียงที่น้อยกว่าด้วย อย่างมาตรการทางการเงิน โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ถือเป็นเครื่องมือเดียวที่ต้องกำหนดให้ตอบโจทย์ทุกเรื่องได้ในครั้งเดียว ทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงิน เพราะมีผลต่อผู้บริโภคในภาพรวม อาทิ หากเงินเฟ้อสูงขึ้น ก็ส่งผลต่อราคาสินค้าที่สูงขึ้นไปแล้วไม่ยอมลดลง ลูกหนี้กับผู้ฝากเงิน ลูกหนี้ก็อยากเห็นดอกเบี้ยที่ต่ำ ส่วนผู้ฝากเงินก็อยากได้ดอกเบี้ยที่สูง ผู้ส่งออกกับผู้นำเข้า ผู้ส่งออกก็อยากเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ตรงข้ามกับผู้นำเข้าที่ไม่อยากเห็นค่าเงินบาทอ่อนเกินไป และไม่อยากให้อัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไปเพราะจะกระทบอัตราแลกเปลี่ยน จึงต้องต้องหาจุดสมดุลให้ได้

“เงินเฟ้อที่ผ่านมาติดลบ ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อล่าสุดจะออกมาอยู่ประมาณ 1% บวกลบเล็กน้อย แต่จะค่อยๆ กลับเข้ามาในไตรมาส 4/2567 โดยครึ่งหลังคาดว่าจะอยู่ที่ 1.1% เข้ากรอบล่างของกรอบเงินเฟ้อแล้ว ส่วนการปรับกรอบเงินเฟ้อของกระทรวงการคลัง มองว่า ในต่างประเทศหลักๆ ก็ไม่มีการเข้าไปยุ่งกับกรอบเงินเฟ้อ เพราะกรอบมีไว้เพื่อกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง เป็นเพียงกรอบที่ใช้อ้างอิง ไม่น่าใช่เหตุผลเปลี่ยนแปลง โดยภาพการปรับลดอัตราดอกเบี้ย มองว่าดอกเบี้ยที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนดเอาไว้ อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับแนวโน้ม (Outlook) ที่แบงก์ชาติเห็น แต่ในอนาคต หากสถานการณ์หรือปัจจัยต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แบงก์ชาติก็พร้อมปรับเปลี่ยน ไม่ได้เป็นการปิดประตูแต่อย่างใด” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ห่วงหนี้ครัวเรือนทะยานสูง

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ปัญหาที่เป็นห่วงมากคือ เรื่องหนี้ครัวเรือน ซึ่งต้องชั่ง 2 อย่าง คือ ดอกเบี้ยสูง คนเป็นภาระหนี้เยอะ แต่ในทางกลับกัน หากดอกเบี้ยต่ำเกินไป การกู้ยืมก็จะโตไปเรื่อยๆ เสถียรภาพทางฝั่งการเงินอาจเสื่อมไป ส่วนหนึ่งที่เริ่มไต่ขึ้นมาในอดีตเพราะเราลดดอกเบี้ย คงดอกเบี้ยต่ำนานเกิน โดยหากมีการลดดอกเบี้ย ผลต่อสินเชื่อรายย่อย ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย เพราะ 40% อิงกับเรทคงตัว อาทิ สินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิต แต่พอปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยให้ภาระปัจจุบันของลูกหนี้เบาลง เพราะได้รับการรลดดอกเบี้ย โอกาสตัดต้นมากขึ้น ทำให้หากหนี้มีปัญหา การปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลต่อลูกหนี้ได้มากกว่า และเครื่องมืออื่น อาทิ การยืดอายุหนี้ เป็นวิธีการปรับโครงสร้างหนี้แบบหนึ่ง แต่ต้องหารือกันอีกรอบ เพราะอาจเจอภาระปลายทางหลังไม่มีรายได้ จึงต้องดูความสามารถการชำระของลูกหนี้ด้วย สิ่งที่กังวลอีกเรื่อง  คือ สินเชื่อที่ชะลอตัวโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี และการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอี

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : แบงก์ชาติ แนะแก้โครงสร้างศก.ไทย ดันจีดีพีโต ผู้ว่าฯยันดบ.เหมาะสม ชี้ถ้าลดลงอีก หวั่นหนี้ครัวเรือนพุ่ง

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.matichon.co.th

2024-07-04T11:16:57Z dg43tfdfdgfd