จี้จัดระเบียบอสังหาภูเก็ต สร้างขวางทางน้ำ-เหตุท่วมซ้ำซาก

หลายภาคส่วนเร่งหาทางแก้ปัญหาน้ำท่วมภูเก็ตซ้ำซาก หวั่นกระทบการท่องเที่ยว จี้รัฐบาลต้องลงมาแก้ปัญหาจริงจัง เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน สั่งการกันลำบาก กรมโยธาธิการฯเร่งผนึกจังหวัด-ท้องถิ่น ทบทวนแผนป้องกันน้ำท่วม เพราะของเดิมอาจไม่เหมาะ จากการเติบโตของภาคอสังหาฯอย่างรวดเร็ว จนหลายโครงการสร้างขวางทางน้ำ และการขยายตัวของเมือง ทำให้ไม่มีพื้นที่รับน้ำ ย้ำต้องขอความร่วมมือเอกชนจะสร้างอะไรต้องคำนึงถึงการระบายน้ำด้วย

หลังเกิดอุทกภัยใหญ่ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพราะอิทธิพลจากพายุมรสุมฤดูฝน ส่งผลกระทบให้หลายพื้นที่เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะบริเวณบางส่วนของอำเภอถลาง (ตำบลเทพกระษัตรี ตำบลศรีสุนทร ตำบลเชิงทะเล) บางส่วนของอำเภอกะทู้ (ตำบลกมลา) และบางส่วนของอำเภอเมือง (ตำบลเกาะแก้ว) จนสร้างความเสียหายและเป็นที่วิตกกังวลทั้งเรื่องความเป็นอยู่และสภาพเศรษฐกิจนั้น

กรมโยธาฯชี้เหตุท่วมภูเก็ต

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีสถานการณ์น้ำท่วมหนัก การแก้ปัญหาในจังหวัดภูเก็ต คงต้องนำแผนแม่บทที่กรมโยธาฯเคยทำโครงการศึกษา แผนหลักการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนระหว่างปี 2559-2561 มาหารือและศึกษาเพิ่มเติมร่วมกับทางจังหวัด และหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ว่า แผนแม่บทที่เคยศึกษาไว้ครอบคลุมถึงจุดเกิดปัญหาน้ำท่วมใหม่ที่เกิดขึ้นหรือไม่ ต้องดูภาพรวมทั้งหมด

โดยเฉพาะเมืองที่ขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดสิ่งกีดขวาง ลำน้ำคับแคบ เป็นคอขวดเป็นอุปสรรคตรงไหนอย่างไร โดยเฉพาะลำน้ำสาธารณะต้องให้ระบายน้ำได้

“ปัจจุบันเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นแผนแม่บทที่มีอยู่คงต้องมาดูข้อมูลกันอีกที โดยเฉพาะข้อมูลตรงจุดที่น้ำท่วมใหม่ อาจต้องนำแผนมาดูว่าครอบคลุมแผนที่เราวางไว้เดิมหรือไม่ ต้องดูภาพรวมทั้งหมด เรื่องเหล่านี้จะต้องให้ทางท้องถิ่นตั้งเรื่องขึ้นมา เพื่อกรมโยธาฯจะได้ตั้งงบประมาณลงไปดำเนินการ”

ประสานเทศบาลช่วยแก้ไข

นายพงศ์รัตน์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันกรมโยธาฯมีโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอยู่ในพื้นที่ป่าตอง และในเมืองภูเก็ต ที่ทำไปแล้ว เข้าใจว่าบางโครงการยังมีอุปสรรค มีบางช่วงที่เป็น “คอขวด” อาจต้องให้ทางเทศบาลภูเก็ตเจรจาแก้ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อจะระบายน้ำลงไปได้อย่างรวดเร็ว

“ปัญหาคอขวดในหลายพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากในอดีตอาจมีสิ่งก่อสร้างรอบข้างไม่มากเท่านี้ คลองเดิมยังระบายน้ำได้ดี หากมีการไหลล้นก็ยังบ่าออกไปพื้นที่ด้านข้าง ซึ่งไม่มีชุมชน ไม่มีใครเดือดร้อน แต่ตอนนี้พอมีบ้าน ตึก ชุมชนเข้ามา คลองระบายน้ำไม่เพียงพอล้นออกมาก็กระทบกับชุมชน”

แนะใช้ผังน้ำวางแผนก่อสร้าง

นายพงศ์รัตน์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้บางโครงการล่าช้ากว่าแผนที่ตั้งไว้ เนื่องจากผู้รับเหมาที่รับงานไปเกิดขาดสภาพคล่องและทิ้งงาน จึงต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อยกเลิกสัญญา และปัจจุบันว่าจ้างผู้รับเหมารายใหม่แล้วกำลังเร่งดำเนินการ แต่ช่วงนี้เข้าหน้าฝนในส่วนโครงสร้างชั่วคราว เพื่อเทคอนกรีตยังทำไม่ได้ ต้องระบายน้ำก่อน อยู่ระหว่างการเร่งรัดและดูจุดอื่น ๆ ที่จะเป็นอุปสรรคอยู่

สำหรับผังน้ำที่มีอยู่เป็นการให้ข้อมูลลักษณะ “ชี้เป้า” และให้คำแนะนำไว้อย่างชัดเจนว่า หากดำเนินการใด ๆ ในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตรงบริเวณนั้น ๆ จะเกิดปัญหาเรื่องน้ำท่วมอย่างไร เจ้าของที่ดินควรจะดำเนินการอย่างไร เป็นการแนะนำการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้วย

ทั้งนี้ หากมีการปลูกสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ ทางกรมโยธาฯจะไม่ใช้ลักษณะการเวนคืนที่ดิน แต่จะใช้การขอความร่วมมือเพื่อให้สามารถใช้ลำรางสาธารณะเดิม หรือใช้แนวถนนเดิมสร้างอุโมงค์ภายใต้ผิวจราจรเดิม จะได้ไม่ต้องเวนคืน

เปิดโครงการแก้น้ำท่วมภูเก็ต

สำหรับแผนงานเเละผลการดำเนินการโครงการเเก้ไขปัญหาน้ำท่วม พื้นที่ชุมชนในจังหวัดภูเก็ต ก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต วงเงินงบประมาณรวม 517.600 ล้านบาท และ 2) โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต งบประมาณ 174.950 ล้านบาท

อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองภูเก็ต ระยะที่ 2 งบประมาณ 296.850 ล้านบาท 2) โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนป่าตอง อำเภอกะทู้ (ส่วนที่เหลือและซ่อมแซมส่วนชำรุดบกพร่อง) งบประมาณ 48.640 ล้านบาท และ 3) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต งบประมาณ 217.700 ล้านบาท

อยู่ในแผนงานปี 2568-2571 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการก่อสร้างระบบระบายเเละระบบปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนกะทู้ ระยะที่ 1 อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต งบประมาณ 200 ล้านบาท (ปี 2568-2570)

2) โครงการก่อสร้างระบบระบายเเละระบบปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ ชุมชนรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต งบประมาณ 220 ล้านบาท (ปี 2569-2571) และ 3) โครงการก่อสร้างระบบระบายเเละระบบปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต งบประมาณ 220 ล้านบาท (ปี 2569-2571)

อบจ.ชี้สร้างบ้าน-คอนโดฯเยอะ

นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตความเจริญของเมืองเติบโตไปอย่างรวดเร็วมาก ส่งผลให้กฎหมายที่มีอยู่รวมถึงการบริหารจัดการเรื่องการวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน แผนการบริหารจัดการน้ำต่าง ๆ ของหน่วยงานราชการตามไม่ทัน

แผนงานต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงานภาครัฐที่มีอยู่คงต้องมาศึกษาทบทวนกันใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการปรับเปลี่ยนให้รองรับกับสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จากปริมาณฝนตกที่เพิ่มมากขึ้น

“เมื่อก่อนเวลาฝนตก เรามีพื้นที่ซับน้ำ แก้มลิงเพื่อรองรับ น้ำเยอะก็ไม่มีปัญหา แต่ตอนนี้พื้นที่ถูกนำไปก่อสร้างโครงการหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ก่อให้เกิดปัญหาพื้นที่ซับน้ำลดลง ภาครัฐตามไม่ทัน ภูเก็ตเมื่อต้นปีเกิดปัญหาน้ำแล้ง จนต้องซื้อน้ำมาใช้อุปโภคบริโภค แต่ตอนนี้หน้าฝนเกิดน้ำท่วม”

จี้รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล

นายเรวัตกล่าวอีกว่า หน่วยงานภาครัฐต้องวางแผน ต้องวางท่อหรือเส้นทางระบายน้ำให้มีมากขึ้น เพื่อรองรับหมู่บ้าน คอนโดฯ ขณะเดียวกันต้องทำแก้มลิงที่เก็บน้ำมากขึ้น เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง โดยนำที่ดินของภาครัฐที่มีอยู่มาใช้ซับน้ำ การตัดถนนเส้นใหม่ การทำคลองระบายน้ำ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งที่เกิดขึ้น ต้องให้ระดับรัฐบาลเข้ามาดูแลแก้ไขอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ต้องเร่งเข้ามาดำเนินการ และมอบให้หน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล

“จริง ๆ ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักที่สำคัญ วันนี้ถึงเวลาที่ควรจะกระจายอำนาจให้เมืองภูเก็ตมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ให้คนท้องถิ่นได้ปกครองดูแลกันเองเหมือนกรุงเทพมหานคร เพราะที่ผ่านมาเงินภาษีที่จัดเก็บจากรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนมหาศาล ปีละกว่า 4 แสนล้านบาท ส่งกลับมาดูแลคนในจังหวัดภูเก็ตน้อยมาก” นายก อบจ.ภูเก็ตกล่าว

อสังหาฯภูเก็ตบูมขวางทางน้ำ

แหล่งข่าวในจังหวัดภูเก็ตกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้จังหวัดภูเก็ตมีปัญหาการเติบโตของเมืองอย่างไร้ทิศทาง เนื่องด้วยพื้นที่อันจำกัด ทำให้การพัฒนาโครงการอสังหาฯเกิดขึ้นไปทุกพื้นที่ ส่งผลให้พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่รองรับน้ำ คลองลำรางสาธารณะถูกทับถมเพื่อขึ้นโครงการ ส่งผลให้เมื่อเกิดฝนตก ทางระบายน้ำต่าง ๆ มีสิ่งกีดขวาง ทำให้ไม่สามารถระบายออกทะเลได้อย่างรวดเร็วเหมือนสมัยก่อน

“การแก้ปัญหาน้ำท่วมในภูเก็ตยุ่งยากมาก เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ถ้าจะให้ได้ผลต้องมาบูรณาการร่วมกัน ต้องให้รัฐบาลหรือหน่วยงานกลางเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ลำพังจังหวัดคงไม่สามารถแก้ได้ เพราะแต่ละหน่วยงานไม่มีอำนาจสั่งการกันได้ ทั้งหมดจะส่งผลต่อภาพลักษณ์และการท่องเที่ยว ที่หวังเป็นจุดหมายปลายทางให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเยือน มาเจอน้ำท่วมหนัก รถติด นักท่องเที่ยวก็ไม่อยากมา”

“ผังน้ำที่มีอยู่ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่คงไม่ได้สนใจดูก่อนการอนุมัติโครงการต่าง ๆ ให้ภาคเอกชนไป จึงเกิดปัญหาหลายหมู่บ้านถูกน้ำท่วมอย่างที่เห็นกัน” แหล่งข่าวกล่าว

มีบ้านขายกว่า 4.7 แสนล้าน

สอดคล้องกับข้อมูลของข่าวที่ “ประชาชาติธุรกิจ” เคยนำเสนอว่า บริษัท เอเจนซี ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด หรือ AREA สำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภูเก็ต ล่าสุด ณ ไตรมาส 1/67 มีการลงทุนใหม่ทั้งบ้านแนวราบ และคอนโดมิเนียม รวมกันมูลค่า 54,000 ล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมมีโครงการอยู่ระหว่างเปิดขาย (Active Projects) รวมกันทั้งเกาะอยู่ที่ 500 โครงการ มูลค่ารวม 470,000 ล้านบาท

นับเป็นภาวะบูมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีมูลค่าพัฒนาโครงการสูงกว่ายุคก่อนเกิดโควิดปี 2562 โดยในจำนวนนี้คิดเป็นหน่วยขายทั้งสิ้น 72,000 หน่วย ขายได้แล้ว 62,000 หน่วย เหลือขาย 10,000 หน่วย ขณะที่ปี 2566 มีนักท่องเที่ยว 8,376,464 คน

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : จี้จัดระเบียบอสังหาภูเก็ต สร้างขวางทางน้ำ-เหตุท่วมซ้ำซาก

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-07-03T00:17:42Z dg43tfdfdgfd