ทรีนีตี้ ชี้ ขณะนี้ศก.ไทยแกร่งกว่าช่วงต้มยำกุ้ง แต่มีปัญหาโครงสร้างอ่อนแอ-หนี้พุ่ง

ทรีนีตี้ ชี้ ขณะนี้ศก.ไทยแกร่งกว่าช่วงต้มยำกุ้ง แต่มีปัญหาโครงสร้างอ่อนแอ-หนี้พุ่ง

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งผ่านมากว่า 27 ปีแล้ว แต่ยังมีบางภาคส่วนที่อ่อนแอลงมากในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะในเรื่องของหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 40% ของจีดีพีมาสู่ระดับ 91% ของจีดีพีในปัจจุบัน และนำไปสู่ความอ่อนแอของการออมภาคครัวเรือน โดยในภาคตลาดทุนไทย พบว่ามูลค่าการซื้อขาย เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) ของตลาดหุ้นอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี นักลงทุนรายบุคคลไทยได้ลดลงจาก 47% สู่ระดับ 31% โดยมองว่าตลาดทุนไทยช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ได้ผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายสุดในด้านเงินทุนไหลออกแล้ว หลังนักลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ขายออกสุทธิไตรมาส 1-2 ที่ผ่านนมากว่า 1.1 แสนล้านบาท

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า ประเมินในส่วนฟันด์โฟลว์ทั้งการซื้อและขายของนักลงทุนต่างชาติ จะเป็นแบบเบาบางในไตรมาส 3 นี้แบบทั่วทั้งภูมิภาค เนื่องจากเม็ดเงินส่วนใหญ่ยังคงรอสัญญาณการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการเลือกตั้งสหรัฐ โดยคาดว่าฟันด์โฟลว์ จะเริ่มคงไหลกลับเข้ามาในตลาดทุนไทย ช่วงปลายไตรมาส 4 เพื่อรอความชัดเจนการลดดอกเบี้ยของเฟด และเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ไทยด้วย ขณะที่แนวโน้มการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ในช่วงสั้น 1-3 เดือนข้างหน้า ค่าเงินเหรียญสหรัฐ จะยังคงแข็งค่าเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของส่วนต่าง (Gap) ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ และธนาคารกลางอื่นทั่วโลกยังอยู่สูง

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า คาดการณ์การปรับดอกเบี้ยของสหรัฐ อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% หรือคงดอกเบี้ย ส่วนดอกเบี้ยไทย คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยทั้งปี ขณะที่ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง หากทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ล่าช้า ก็จะนำไปสู่การลดลงของกำไรสุทธิต่อหุ้นของตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นโลกมักปรับตัวลดลงกว่า 10% โดยเฉลี่ยก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 4 เดือน เทียบสถิติจากการเลือกตั้ง 25 ปีย้อนหลัง ส่งผลต่อตลาดหุ้นในไตรมาส 3 จะถูกขับเคลื่อนโดยนักลงทุนสถาบัน มองการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นในช่วงที่เหลือของปีที่ระดับ 1,240-1,430 จุด โดยมองตลาดหุ้นไทยเป็นเค เชฟ เน้นลงทุนหุ้นที่มีการขยายตัวของกำไร คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหาร กลุ่มโทรคมนาคม กลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่มโรงพยาบาล

“เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มสนใจหุ้นไทยเมื่อส่วนต่างระหว่างสินทรัพย์เสี่ยงกับไม่เสี่ยง (Earning yield gap) ระหว่างตลาดหุ้นไทยเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ของสหรัฐ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.24% หรือระดับดัชนีหุ้นอยู่ที่ 1,250 จุด และมองตลาดหุ้นไทยจะมีฟันด์โฟลว์ไหลเข้าในปลายไตรมาส 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นกลุ่มธนาคารที่มีปันผลสูง” นายวิศิษฐ์กล่าว

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า เศรษฐกิจและตลาดทุนไทย พิจารณาจากมูลค่าตลาดทุน (Market Capitalization) ต่อจีดีพี ปรับเพิ่มขึ้นจาก 24% มาสู่ 97% ของจีดีพีรวมประเทศ ตลาดตราสารหนี้มีการพัฒนาอย่างมากจากมูลค่าต่ำกว่าล้านล้านบาทในปี 1997 มาสู่ระดับ 17 ล้านล้านบาท หรือ 95% ของจีดีพีในปัจจุบัน ภาพการระดมทุนมีความสมดุลมากขึ้นทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุนและสินเชื่อธนาคาร ขณะที่ทุนสำรองต่อจีดีพีมีความแข็งแกร่งขึ้นมาอยู่ที่ 44% ของจีดีพี เมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 18% ของจีดีพีในช่วงปี 1997 ที่ดุลเดินสะพัดมีความแข็งแกร่ง (บางปีถึง 10% ของจีดีพี) ทำให้ภาพเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก แม้ในส่วนของดุลบัญชีทุนเริ่มอ่อนแอลงนับตั้งแต่ปี 2556 รวมถึงหนี้สินภาคธุรกิจมีความแข็งแกร่งขึ้นจาก 175% ของจีดีพี ลงมาสู่ 95% ของจีดีพี ในปี 2552 ก่อนเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 197% ของจีดีพี ในกลางปี 2567 เนื่องจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ภาคธุรกิจต้องก่อหนี้เพิ่ม ส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้นดีขึ้นจากที่ขาดทุนสุทธิช่วงปี 2540 มาสู่ระดับ 80-90 บาทต่อหุ้นในปัจจุบัน

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ทรีนีตี้ ชี้ ขณะนี้ศก.ไทยแกร่งกว่าช่วงต้มยำกุ้ง แต่มีปัญหาโครงสร้างอ่อนแอ-หนี้พุ่ง

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.matichon.co.th

2024-07-02T09:39:12Z dg43tfdfdgfd