สรท. ยันสอบผ่าน ดันส่งออกปี’67 โต 1-2% แม้มีมรสุมเพียบ แนะรัฐแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

สรท. ยันสอบผ่าน ดันส่งออกปี’67 โต 1-2% แม้มีมรสุมเพียบ แนะรัฐแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพฤษภาคม 2567 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน 2566 พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 26,219.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.2% มูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 960,220 ล้านบาท ขยายตัว 15.1% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการยังขยายตัว 6.5% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,563.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1.7% มีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 947,007 ล้านบาท ขยายตัว 5.5% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2567 เกินดุลเท่ากับ 656.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 13,214 ล้านบาท โดย สรท.เชื่อมั่นว่าการส่งออกปี 2567 จะสามารถเติบโตที่ 1-2% ได้

“หากผลักดันการส่งออกครึ่งหลังปี 2567 ได้ถึง 142,200-145,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 23,800-24,200 ล้านเหรียญสหรัฐได้ มั่นใจว่าการส่งอกจะอยู่ในช่วงบวก 1-2% สอบผ่านแน่นอนในแง่เป้าหมายร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน เนื่องจากตัวเลขการค้าสามารถเป็นไปได้ เพราะ 5 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกไทยมีมูลค่าเฉลี่ยที่ 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงมีโมเมนตัมในการขับเคลื่อนได้อีก หากไม่มีปัจจัยภายในอะไรมาซ้ำเติมผู้ส่งออกอีก” นายชัยชาญกล่าว

นายชัยชาญกล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 (5 เดือน) ไทยส่งออกรวมมูลค่า 120,493.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 4,298,248 ล้านบาท ขยายตัว 8.1% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกขยายตัวได้ที่ 4.3% การนำเข้ามีมูลค่า 125,954.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.5% มีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 4,542,224 ล้านบาท ขยายตัว 8.8% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยสะสม 5 เดือน ขาดดุลเท่ากับ 5,460.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 243,976 ล้านบาท

นายชัยชาญกล่าวด้วยว่า ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง เป็นรองเพียงญี่ปุ่น และเกาหลีเท่านั้น หากพิจารณาในกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่าเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าประเทศอื่น ทิศทางในระยะถัดไปต้องติดตามการปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐที่คาดว่าปีนี้จะปรับลด 1 ครั้ง เพราะเงินเฟ้อสหรัฐยังอยู่สูง และไม่ได้ลดลงตามที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตั้งเป้าหมายไว้ บวกกับเงินเฟ้อไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นมาเพียงเล็กน้อย จึงมองว่าในระยะต่อไปค่าเงินบาทจะยังทรงตัวในแนวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง หากอยู่ในระดับ 36-37 บาท เป็นช่วงที่สามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกเพียงตัวเดียวของภาคการส่งออกไทย

นายชัยชาญกล่าวอีกว่า ถึงแม้มีมรสุมอยู่เยอะ โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องกับค่าระวางเรือปรับสูงขึ้น ภาคการผลิตทั่วโลกยังไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนประเทศไทย สถานการณ์การเมืองในประเทศก็มีส่วนสำคัญ ซึ่งจะต้องรักษาให้เกิดเสถียรภาพ เพื่อให้การส่งออกในครึ่งหลังปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้จริง โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังในครึ่งปีหลังที่สำคัญ ได้แก่ 1.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ 2.ต้นทุนภาคการผลิต ทรงตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งพลังงาน อย่างน้ำมันและไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำที่อยู่ระหว่างพิจารณาปรับขึ้น 3.ต้นทุนค่าระวางเรือ ปรับตัวสูงขึ้นทุกเส้นทาง ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จากการเร่งผลิตและส่งออกของจีนส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นกว่า 300% 4.การเข้าถึงสินเชื่อของภาคการผลิตมีปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ขาดสภาพคล่อง และ 5.ภาคการผลิตรายสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวจำกัด

นายชัยชาญกล่าวว่า สรท.มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ 1.ต้องกำกับดูแลโครงสร้างต้นทุนการผลิต เพื่อคงขีดความสามรถในการแข่งขัน ทั้งต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำ และค่าขนส่งสินค้าทางทะเลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 2.ผู้ส่งออกต้องวางแผนการขนส่งด้วยการจองระวางเรือล่วงหน้า บริหารจัดการสต็อกสินค้าให้เหมาะสม 3.สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการส่งออก อาทิ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้า 4.สนับสนุนแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจให้เพียงพอต่อการหมุนเวียนกระแสเงินสดและการผลิตเพื่อการส่งออก 5.เร่งส่งเสริมกิจกรรมส่งเสริมการขายในต่างประเทศ และ 6.เร่งปรับโครงการสร้างการส่งออกของไทย เพื่อรองรับการแข่งขันในระยะยาว โดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Trading Nation

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : สรท. ยันสอบผ่าน ดันส่งออกปี’67 โต 1-2% แม้มีมรสุมเพียบ แนะรัฐแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.matichon.co.th

2024-07-02T09:23:59Z dg43tfdfdgfd