ตลาดหุ้นไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ครบรอบ 27 ปีลอยตัวค่าเงินบาท เปลี่ยนไปแค่ไหน ?

บล.ทรีนีตี้ชี้ ตลาดหุ้นไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ครบรอบ 27 ปี ลอยตัวค่าเงินบาท แข็งแกร่งขึ้น สัดส่วนมาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้นจาก 24% ทะยานสู่ 97% ของ GDP มองช่วงครึ่งปีแรกผ่านจุดต่ำสุดแล้ว คาดช่วงปลายไตรมาส 4 เงินทุนไหลเข้า

วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วาระครบ 27 ปี วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 และครบรอบลอยตัวค่าเงินบาทวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เศรษฐกิจและตลาดทุนไทยมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก ดูจากมูลค่าตลาดทุน (Market Capitalization) ต่อ GDP ปรับเพิ่มขึ้นจาก 24% มาสู่ 97% ของ GDP รวมประเทศ ตลาดตราสารหนี้มีการพัฒนาอย่างมากจากมูลค่าต่ำกว่าล้านล้านบาทในปี ค.ศ. 1997 มาสู่ระดับ 17 ล้านล้านบาท หรือ 95% ของ GDP ในปัจจุบัน

ภาพการระดมทุนมีความสมดุลมากขึ้นทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน และสินเชื่อธนาคาร ขณะที่ทุนสำรองต่อ GDP มีความแข็งแกร่งขึ้นมาอยู่ที่ 44% ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 18% ของ GDP ในช่วงที่ปี ค.ศ. 1997 ดุลเดินสะพัดมีความแข็งแกร่ง (บางปีถึง 10% ของ GDP) แต่ในส่วนของดุลบัญชีทุนเริ่มอ่อนแอลงนับตั้งแต่ปี 2556

สำหรับมูลค่าการซื้อขายของตลาดทุนไทย เมื่อเปรียบเทียบกับ Market Cap ของตลาดหุ้นอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี นักลงทุนที่เป็นรายบุคคลไทยได้ลดลงจาก 47% มาสู่ระดับ 31%

โดย Set Turnover Ratio (อัตราการหมุนเวียนการซื้อขาย) ในช่วงปี ค.ศ. 1997 อยู่ที่ 40.9% ปัจจุบันอยู่ที่ 62.8% ซึ่งจะเห็นปริมาณการซื้อขายประมาณ 4 หมื่นล้าน อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ที่อยู่ประมาณ 80% ถ้าตลาดทุนเป็นปกติ การซื้อขายควรอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท

สิ่งที่มีความแตกต่างคือ Sector Composite โดยเมื่อช่วงปี ค.ศ. 1997 กลุ่มที่เป็นตัวนำคือ กลุ่มธนาคาร (BANK) ต่อมาคือ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG) ขณะที่ในปัจจุบันกลุ่ม ENERG เป็นตัวนำ ต่อด้วยกลุ่ม BANK และกลุ่มพาณิชย์ (COMM)

นอกจากนี้สิ่งที่แตกต่างคือ Investor Composite หรือสัดส่วนนักลงทุนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี ค.ศ. 1997 มีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อย 47% สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติ 40% สัดส่วนนักลงทุนสถาบัน 7% ขณะที่ปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติ อยู่ที่ 53% โดยส่วนใหญ่เป็น Program Trading นักลงทุนรายย่อย 31% และนักลงทุนสถาบัน 9%

“ทั้งนี้มองว่าตลาดทุนไทยช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ได้ผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายสุดในด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกไปแล้ว หลังเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกในไตรมาส 1 และ 2 ไปแล้วกว่า 1.1 แสนล้านบาท”

ด้านหนี้สินภาคธุรกิจมีความแข็งแกร่งขึ้นจาก 175% ของ GDP ลงมาสู่ 95% ของ GDP ในปี 2552 ก่อนเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 197% GDP ในกลางปี 2567 เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจต้องก่อหนี้เพิ่ม ส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้นดีขึ้นจากที่ขาดทุนสุทธิช่วงปี 2540 มาสู่ระดับ 80-90 บาทต่อหุ้นในปัจจุบัน

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤต แต่ก็ยังมีบางภาคส่วนที่อ่อนแอลงมากในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะในเรื่องของหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 40% ของ GDP มาสู่ระดับ 91% ของ GDP ในปัจจุบัน และนำไปสู่ความอ่อนแอของการออมภาคครัวเรือน

ขณะเดียวกันที่ผ่านมาช่องว่างระหว่างผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐและไทยมีค่อนข้างสูง ทำให้เงินทุนไหลออก โดยมีเงินส่วนหนึ่งที่ไปลงทุนในพันธบัตรสหรัฐ และที่ผ่านมามีเงินทุนจากคนไทยผ่านบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ หรือ Foreign Currency Deposit (FCD) ไหลออกไปลงทุนในสหรัฐกว่า 820,000 ล้านบาท เกิดเงินทุนไหลจากตลาดที่ได้ผลตอบแทนน้อยไปยังตลาดที่ได้ผลตอบแทนสูง

ทั้งนี้มองว่าในส่วนของเงินลงทุนจากต่างชาติ Fund Flow ทั้งการซื้อและขายของนักลงทุนต่างชาติจะเบาบางในไตรมาส 3 ทั้งภูมิภาค เนื่องจากเม็ดเงินส่วนใหญ่ยังคงรอสัญญาณการลดดอกเบี้ยของ Fed และการเลือกตั้งสหรัฐ คาดว่า Fund Flow จะเริ่มคงไหลเข้ามาในปลายไตรมาส 4 ความชัดเจนของการลดดอกเบี้ยของ Fed และเป็นช่วง High Season ของการท่องเที่ยวไทย

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ตลาดหุ้นไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ครบรอบ 27 ปีลอยตัวค่าเงินบาท เปลี่ยนไปแค่ไหน ?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-07-02T10:05:19Z dg43tfdfdgfd